เมื่อถึงเทศกาลลอยกระทงทีไร หลายองค์กรต่างออกมาร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงข้อเสียต่างๆ ที่ล้วนสร้างความสูญเสียตลอดจนทำลายวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ล่าสุดมีผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ประเพณีลอยกระทงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" โดยเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา พบว่า สิ่งที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในวันลอยกระทงคือ การจุดประทัด พลุไฟ 29% การทะเลาะวิวาท 26% ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์มีถึง 23% รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ 19%
แล้วจะลอยกระทงอย่างไรให้สร้างสรรค์? คิดง่ายๆ เลยคือ "การสร้างสรรค์ คือการไม่ทำลาย" เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้การลอยกระทงครั้งนี้เกิดการทำลายน้อยที่สุด หรือถ้าไม่ทำลายเลยก็จะดีที่สุด ซึ่งหากมองย้อนกลับไป ภาพที่จดจำได้ชัดเจนหลังจากเทศกาลลอยกระทงจบลงในวันรุ่งขึ้นเราจะเห็นขยะจำนวนมหาศาลเป็นเศษกระทงทั้งที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและทำจากวัสดุเคมีสังเคราะห์ อย่างโฟม กระดาษ และพลาสติก ซึ่งเหล่านี้ใช้เวลาย่อยสลายหลายสิบปีเลยทีเดียว
เมื่อรู้และเข้าใจถึงปัญหาชัดเจนแล้ว คราวนี้เราลองมามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครั้งนี้กัน เริ่มจากลองคิดดูซิว่า จะทำกระทงแบบไหนดีที่ไม่ก่อให้เกิดขยะ และทำลายสิ่งแวดล้อม อาจจะมองหาสิ่งใกล้ตัวและเอามาดัดแปลง เป็นวิธีการทำกระทงแบบ DIY เน้นประหยัด ทำง่าย และให้คุ้มค่ามากที่สุด ตัวอย่าง การทำกระทง DIY แบบง่ายมากคือ กระทงน้ำแข็ง เพราะเมื่อน้ำเจอกับน้ำสักพักก็จะละลายหายไปไม่ก่อให้เกิดขยะแน่นอน วิธีทำก็แสนง่าย เอาน้ำใส่ขันแช่เย็นจนเป็นก้อนน้ำแข็ง แล้วใช้ดอกไม้ประดับด้านบน แค่นี้ก็สามารถเป็นกระทงรักษ์โลกได้แล้ว อีกตัวอย่างที่อยากแนะนำคือ กระทงจากเปลือกแตงโม เริ่มจากผ่าครึ่งลูกแตงโมง แล้วคว้านเอาเนื้อออกจนเหลือแต่เปลือก หาดอกไม้มาประดับสักหน่อย เท่านี้ก็จะได้กระทงแตงโมงหน้าตาน่ารัก ส่วนเนื้อแตงโมก็เอาแช่ตู้เย็นรับประทานชื่นใจ
นอกจากนี้ยังมีไอเดียการทำกระทงรักษ์โลกง่ายๆ จาก น้องแซ ตรีชฎา หวังพิทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการสื่อสารการตลาดมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่จะทำกระทงจากกะลามะพร้าว
"ปีนี้แซจะทำกระทงจากกะลามะพร้าว เนื่องจากจำนวนกะลามะพร้าวมีอยู่มากหาได้ไม่ยาก ทรงโค้งๆ ของกะลามะพร้าวจะช่วยทำให้กระทงลอยน้ำได้อย่างไม่ต้องกลัวจม และถ้าใครอยากจะประดับตกแต่งให้สวยงามก็สามารถทำได้ ที่สำคัญควรเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ ข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งของกะลามะพร้าวก็คือ ไม่มีน้ำซึมเปียกเลอะเสื้อผ้า เหมือนกระทงปกติทั่วไปที่ทำจากหยวกกล้วย อีกทั้งราคากะลามะพร้าวยังสบายกระเป๋าสุดๆ ค่ะ"
ส่วนวัยรุ่นคนไหนที่ไม่ชอบออกไปเบียดเสียดกับคนข้างนอก น้องก้อย กฤชภร ผิวเหลือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสารสนเทศ ภาควิชาการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แนะนำว่า ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์จำนวนไม่น้อยที่สร้างแคมเปญรณรงค์การลอยกระทงออนไลน์ขึ้นมา เพื่อรองรับคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เรียบง่าย ไม่ชอบออกไปพบปะกับผู้คนข้างนอกสักเท่าไหร่ โดยที่เพียงแค่เข้าไปในเว็บไซต์นั้น ก็จะมีให้เลือกว่าจะลอยกระทงแบบไหน อธิษฐานว่าอะไร แล้วก็กดลอยกระทงได้เลย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยอนุรักษ์ประเพณีไม่ให้สูญหาย และยังช่วยลดปริมาณขยะที่จะตามมาภายหลังอีกด้วย เท่านี้เราก็จะได้ลอยกระทงตามแบบฉบับของคนออนไลน์แล้วค่ะ
ทั้งนี้ความสำคัญของประเพณีลอยกระทงนั้น ก็คือ การขอขมาต่อพระแม่คงคา การระลึกถึงความสำคัญของน้ำและการไม่ทำลายแหล่งน้ำ ให้ถือว่าเรามีความตั้งใจ และมีเจตนาดี วิธีการทำกระทงแบบ DIY ที่แนะนำไปนั้น จึงไม่น่าจะผิดประเพณีใดๆ หากแต่แค่เป็นการปรับวิธีเสียใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีกับสถานการณ์ในปัจจุบันนั่นเอง
จากตัวอย่างที่ได้แนะนำไปนั้น หวังว่าจะช่วยจุดประกายเล็กๆ ให้กับหลายคนได้ไม่มากก็น้อย ที่อยากจะริเริ่มหันมาใส่ใจและอยากมีส่วนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่และแก้ไขยาก แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันก็เชื่อว่าจะสามารถลดความสูญเสียและนำเอาความงดงามของประเพณีกลับมาได้ โดยต้องเริ่มจากที่ตัวเราก่อนเป็นอันดับแรก
ที่มา : ฐาปน คำทา Team Content www.thaihealth.or.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น