เยื่อหุ้มรก หรือถุงน้ำคร่ำที่ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า amniotic membrane เป็นส่วนเยื่อบางใสที่หุ้มห่อทารกและน้ำคร่ำเมื่อเด็กอยู่ในครรภ์มารดา ภายหลังเมื่อเด็กคลอดออกมา เยื่อหุ้มรกก็จะเหลือค้างติดกับรก และออกมาเมื่อรกคลอด ปกติเป็นส่วนที่เราจะทิ้งไปพร้อมกับรกเนื่องจากไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
ส่วนประกอบในเยื่อหุ้มรกมี 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของเซลล์ และแผ่นฐานรองรับเซลล์ที่เรียกว่า basement membrane และส่วนของเนื้อเยื่อผูกพันที่อยู่กันอย่างหลวมๆ และมีสารหลายอย่างละลายอยู่ข้างใน
ในสมัยก่อน มีการนำเอาเยื่อหุ้มรกมาใช้ทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น นำมาผ่าตัดในช่องท้อง ใช้ปกปิดแผลที่เกิดที่ผิวหนังจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ใช้เป็นเนื้อเยื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่ขาดหายไป ทั้งนี้ เนื่องจากพบคุณสมบัติที่สำคัญของเยื่อหุ้มรก คือ สามารถลดอาการปวด การอักเสบ และลดปริมาณเส้นเลือดผิดปกติที่งอกเข้ามา ช่วยสมานแผลให้หายเร็ว
โรคทางตาอะไรบ้างที่ใช้เยื่อหุ้มรกรักษาได้
ในทางจักษุวิทยา มีโรคกลุ่มหนึ่งที่เป็นปัญหาในการรักษาของจักษุแพทย์มาโดยตลอด โรคกลุ่มนี้คือ โรคของผิวดวงตา ที่เรียกว่า ocular surface disease โรคชนิดนี้จะทำให้เกิดแผลเรื้อรังของกระจกตา ตามมาด้วยเกิดแผลเป็น มีเส้นเลือดใหม่งอกเข้าไปในกระจกตา ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บระคายเคืองตาเรื้อรัง และแผลเป็นที่เกิดขึ้น ก็ทำให้การมองเห็นน้อยลงเรื่อยๆ
ในสมัยก่อน การรักษาก็มักจะเป็นการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ซึ่งสามารถทำให้กระจกตาใสขึ้นและมองเห็นขึ้น แต่เป็นอยู่ได้ในช่วงสั้นๆ เนื่องจากโรคเองไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ ก็จะกลับเป็นแผลเป็นขึ้นมาใหม่ นอกจากนั้น เส้นเลือดที่งอกเข้าไปในกระจกตา ก็จะนำเอาภูมิคุ้มกันของร่างกาย เข้าไปต่อต้านกระจกตาที่เปลี่ยนใหม่ ทำให้เกิดกระจกตาบวมขึ้น และผู้ป่วยกลับไปมองไม่เห็นเหมือนเก่า ตัวอย่างของโรคประเภทนี้ได้แก่ โรคกระจกตาขุ่นที่เกิดตามหลังสารเคมีเข้าตา ถูกของร้อน การอักเสบจากการแพ้ยาอย่างรุนแรง การใช้คอนแทคเลนส์ การติดเชื้อของกระจกตาเป็นต้น
วิวัฒนาการปัจจุบันทำให้เกิดการค้นพบว่า เมื่อนำเยื่อหุ้มรก ไปผ่าตัดลงบนตาของผู้ป่วยโรคผิวดวงตา มีผลช่วยในการสมานแผล ลดการอักเสบ ผิวดวงตากลับมาใสขึ้น ปราศจากเส้นเลือด ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามองเห็นได้ดีขึ้น ในผู้ป่วยบางราย กระจกตาอาจใสได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาใหม่ และในรายที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา ก็จะทำให้สภาพของดวงตาสงบลง เพิ่มความสำเร็จในการผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น เยื่อหุ้มรก ยังสามารถใช้เป็นเนื้อเยื่อทดแทนในการผ่าตัดโรคบางชนิด เช่น ต้อเนื้อ การใช้เยื่อหุ้มรกก็จะช่วยลดการเกิดต้อเนื้อซ้ำ เมื่อเทียบกับการผ่าตัดลอกออกธรรมดา ในอนาคต จักษุแพทย์กำลังทำการวิจัยเพื่อศึกษาประโยชน์ใหม่ๆ ที่จะได้จากการนำเยื่อหุ้มรกไปใช้
เยื่อหุ้มรกได้มาจากไหน มีผลข้างเคียงหรือไม่
ในการเตรียมเยื่อหุ้มรกเพื่อใช้ประโยชน์ เจ้าหน้าที่จะขอรับบริจาครกจากมารดาซึ่งตั้งครรภ์ปกติ และคาดว่าจะทำการคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง (ceasarian section ) รกที่ได้จากการผ่าตัดคลอด จะถูกแช่น้ำแข็ง นำส่งยังห้องปฏิบัติการภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ และจะถูกตัดแยกส่วนของเยื่อหุ้มรก ซึ่งเป็นแผ่นบางใสออกมาจากรก นำมาติดกับกระดาษกรอง ซึ่งจะช่วยทำให้เยื่อหุ้มรกไม่พันหรือติดกัน
หลังจากนั้น จะแบ่งเยื่อหุ้มรกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ตามขนาดที่ต้องการ แล้วแช่ลงในขวดที่มีน้ำยาเพื่อรักษาสภาพ ทำการแช่แข็งไว้ที่อุณหภูมิ -78 องศาเซลเซียส สามารถรักษาสภาพไว้ได้ถึง 1 ปี การเตรียมรกด้วยวิธีนี้ รก 1 ชิ้นจากมารดา 1 คน สามารถนำมาแยกได้หลายสิบชิ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก
ในด้านความปลอดภัยนั้น มารดาผู้บริจาครก จะได้รับการตรวจโลหิตเพื่อคัดกรองโรคที่อาจติดต่อทางโลหิตได้ เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี ซี ซิฟิลิส และที่สำคัญมากคือ โรคเอดส์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ยังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดโดยใช้เยื่อหุ้มรกเลย
สามารถรับบริการเยื่อหุ้มรกได้ที่ไหน
ในปัจจุบัน ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย สามารถผลิตเยื่อหุ้มรกได้แล้วด้วยกระบวนการจัดทำดังกล่าว และเยื่อหุ้มรกทุกชิ้นผ่านการตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธี NAT มีความปลอดภัยสูง และพร้อมให้บริการ
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย 1871อาคารเทิดพระเกียรติฯชั้น 7 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กทม. 10330 โทร. 02-256-4039-40 ได้ทุกวันในเวลาราชการ
ผ.ศ.พญ.วิลาวัณย์ พวงศรีเจริญ : ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น